top of page

พริกสวยๆไม่มีโรคแอนแทรคโนส

(โรคกุ้งแห้ง) ผลผลิตมาก ๆ ปรึกษาเรา 092-547-7766

พริกเป็นพืชผักในกลุ่ม Solanacious เซ่นเดียวกับมะเขือเทศแต่อยู่ใน Genus Capsicumในประเทศไทยที่นิยมปลูกมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดทั้งเผ็ดและไม่เผ็ดเช่น พริกขี้หนู (bird chilli) พริกมันหรือพริกชี้ฟ้า (hot pepper) พริกหยวก (banana pepper) และพริกยักษ์ หรือพริกหวาน (bell pepper) แม้ว่าพริกจะเป็นพืชผักที่ใช้ประกอบอาหารประเภทปรุงแต่งรส แต่ก็เป็นพืชสำคัญทางเศรษฐกิจจัดอยู่ในกลุ่มของพืชอาหารหลักชนิดหนึ่งของชาวไทยสามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในทุกภาคของประเทศและตลอดปี ขณะเดียวกันก็ปรากฎว่ามีโรคและศัตรูหลายชนิดขึ้นเกาะกินทำลายทำให้เกิดความเสียหายทั้งคุณภาพและปริมาณเป็นจำนวนมากในแต่ละปีเช่นกัน

1. โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose)

แอนแทรคโนสเป็นโรคที่ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดและทำความเสียหายที่ผลพริก ซึ่งชาวบ้านทั่วๆ ไปรู้จักกันในชื่อของโรคกุ้งแห้ง เนื่องจากลักษณะอาการแห้ง หงิกงอ และสีของผลพริกที่เปลี่ยนโป โรคนี้พบระบาดทำความเสียหายให้แก่พริกชนิดต่างๆ เช่น พริกมันแดง พริกบางช้าง พริกเหลือง พริกหนุ่ม ฯลฯ ในแหล่งที่มีการปลูก เช่น ในท้องที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ศรีสะเกษ เชียงใหม่ ฯลฯ โดยเฉพาะในฤดูฝน ซึ่งอากาศร้อนและชื้น โรคจะระบาดทำความเสียหายมาก

ลักษณะอาการ

ผลพริกเริ่มเป็นแผลหรือจุดช้ำเป็นแอ่งยุบลง ลักษณะอาจกลมหรือไม่แน่นอน ขนาดก็ตั้งแต่จุดเล็กๆ ไปจนเต็มความกว้างของผลพริก อาจมีเพียงแผลเดียวหรือหลายแผลก็ได้ แผลเหล่านี้ต่อมาจะแห้งเป็นสีนํ้าตาลหรือดำพร้อมกับการสร้าง fruiting body ซึ่งเป็นที่เกิดของสปอร์หรือโคนิเดีย เป็นจุดสีเหลืองส้มหรือน้ำตาลดำเป็นวงๆ เรียงซ้อนกันอยู่ที่แผลดังกล่าวเชื้อจะเข้าทำลายผลพริกได้ทุกระยะการเจริญตั้งแต่เริ่มเป็นผลเล็กๆ จนโตเต็มที่และสุกแดงแล้ว อย่างไรก็ดีหากเป็นระยะที่ยังอ่อนเซลล์บริเวณแผลซึ่งถูกทำลาย จะหยุดการเจริญเติบโตขณะเดียวกันส่วนรอบๆ จะเจริญไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดอาการคดโค้งงอหรือบิดเบี้ยวขึ้นโดยมีแผล หรือเซลล์ที่ตายอยู่ด้านใน ลักษณะคล้ายกุ้งแห้งทำให้มีชื่อ เรียกดังกล่าว

พริกที่เป็นโรคตามธรรมชาติมักแสดงอาการให้เห็นชัดเจนบนผลพริกที่แก่จัดหรือผลสุก ส่วนอาการบนใบ ยอดอ่อน และกิ่งจะเกิดโรคต่อเมื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสม โรคนี้ถ้าเกิดกับต้นกล้าจะทำให้ต้นกล้าแห้งตาย (seedling blight)

เชื้อสาเหตุ

เกิดจากรา 2 ชนิด คือ

1. Colletotrichum dematium (Syd.) Bulter & Bisby แผลมีสีนํ้าตาลถึงดำขนาดและรูปร่างไม่มีขอบเขตมี setae มาก conidia รูปโค้งเซลล์เดียวสีใส

2. Colletotrichum gloeosporioides (Penz.) Sacc. เกิดแผลวงกลมรีมีขนาด 1-2 ซม. หรือใหญ่กว่านี้ แผลบุ๋มลึก มีสีเหลืองปนส้มและจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลเมื่อแผลเก่า พบ acervulus อยู่เป็นวงๆ บนแผล conidium รูปไข่เป็นแท่งเซลล์เดียว สีใส และไม่มี setae อย่างไรก็ตามสีของ fruiting body ของราทั้งสองนี้จะต่างหรือแยกออกจากกันได้ ขณะที่ยังอ่อนหรือเริ่มสร้างเท่านั้น พอแก่จะกลายเป็นสีดำเหมือนกันหมด

Colletotrichum spp. มีการขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศ โดยการสร้างสปอร์หรือโคนิเดีย ภายใน fruiting body ลักษณะรูปถ้วยคว่ำ (acervulus) บนแผลซึ่งมองเห็นเป็นจุดๆ เรียงซ้อนกันเป็นวง เมื่อโคนิเดียแก่จะดันเปลือกด้านบน fruiting body ให้เปิดแตกออกแล้วหลุดออกมาข้างนอก ปลิวแพร่กระจายไปตามลม น้ำที่สาดกระเซ็น แมลง เครื่องมือกสิกรรม และสิ่งเคลื่อนไหวทุกชนิดที่ไปถูกต้องสัมผัสเข้า เมื่อตกลงบนผลพริกก็จะงอกเข้าทำลายแล้วก่อให้เกิดอาการขึ้น ภายใน 3-5 วัน จากพริกที่เป็นโรคเชื้อราจะถูกถ่ายไปยังเมล็ดเพื่ออยู่ข้ามฤดูและแพร่ระบาดต่อไป

สำหรับสิ่งแวดล้อมที่ช่วยในการแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรค คือความชื้นต้องสูงกว่า 95% อุณหภูมิระหว่าง 27 – 32° ซ.

การป้องกันกำจัด

1. เมล็ดพันธุ์ควรเก็บจากแปลงที่ไม่เป็นโรคมาก่อน ถ้าจำเป็นต้องเก็บจากแปลงที่เป็นโรค ก่อนปลูกควรทำ seed treatment เช่น hot water treatment ใช้อุณหภูมิ 50-52°ซ. นาน 30 นาที พบว่าได้ผลดีมาก หรือใช้สารเคมี Delsene MX คลุกเมล็ดในอัตรา 0.8% ของนํ้าหนักเมล็ดก็ได้ผลดีเช่นกัน

2. ปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับพืชที่ไม่อยู่ในวงศ์ Solanaceae และหมั่นทำลายวัชพืช จัดการระบายนํ้าให้ดี ตลอดจนเก็บเศษซากพืชที่เป็นโรคนี้ทำลายเสีย

3. หลังจากเก็บพริกจากต้นแล้วและอยู่ในระหว่างการขนส่ง ควรเก็บไว้ในที่เย็น ภายใต้อุณหภูมิคงที่ พริกจะไม่ค่อยเกิดโรค

4. เมื่อต้นพริกโตแล้ว ฉีดสารเคมีป้องกันไม่ให้เกิดโรค เช่น imazalil, prochloraz, benomyl, carbendazim, mancozeb, maneb และ Delsene MX เป็นต้น

2. โรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อรา Cercospora (Cercospora leaf spot)

ใบจุดของพริกที่เกิดจากรา Cercospora sp. เป็น โรคปกติธรรมดาที่จะพบได้ทั่วไปในทุกแห่งที่มีการปลูกโดยจะเป็นกับใบแก่เพียง 2-3 ใบที่อยู่ตอนล่างๆ ของต้นไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแต่ในบางท้องถิ่นที่มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม เอื้ออำนวยต่อเชื้อก็จะกลายเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรงได้

ลักษณะอาการ

โรคจะเข้าทำลายก่อเกิดอาการได้ทุกส่วนของต้นพริกไม่ว่าจะเป็นต้น กิ่ง ก้านใบ กลีบดอก ผล และขั้วผล บนใบแผลจะเริ่มจากจุดเซลล์ตายเล็กๆ ค่อนข้างกลมแล้วค่อยขยายใหญ่ขึ้นเปลี่ยนเป็นแผลสีเหลืองซีดจางขอบเข้ม ตอนกลางบางมีสีจางหรือเป็นจุดขาว ปกติแล้วแผลจะมีขนาด ราว 3-4 มิลลิเมตร แต่ถ้าเกิดเดี่ยวบางครั้งอาจมีขนาดโตถึง 1 เซนติเมตรใบที่เกิดแผลมากๆ เนื้อใบจะเหลืองทั้งใบ แล้วร่วงหลุดจากต้น ในต้นที่เป็นรุนแรงใบจะร่วงหมดทั้งต้น ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดความเสียหายคือต้นโทรมไม่ออกผล แต่ถ้าเป็นในระยะที่ให้ผลแล้วเมื่อได้รับแสงอาทิตย์เต็มที่จะทำให้เกิดอาการไหม้ตายนึ่ง (sunburn) ขึ้นกับผลพริกเนื่องจากไม่มีใบช่วยบังแสงให้ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้ออื่นเข้าทำลายได้ง่ายยิ่งขึ้น สำหรับอาการแผลบนต้น กิ่ง ก้าน มีลักษณะเป็นแผลยาวสีดำหรือนํ้าตาลเข้ม หากเกิดมากๆ จะทำลายกิ่ง ก้าน เหล่านั้นให้แห้งตายได้ และถ้าเกิดแผลที่ขั้วผลก็จะทำให้ผลร่วง

เชื้อสาเหตุ

Cercospora capsici Heald & Wolf.

เป็นราในกลุ่ม imperfecti ใน Class Deuteromycetes ขยายพันธุ์โดยการสร้างโคนิเดียบนก้านที่เกิดเป็นกระจุกที่บริเวณแผลบนพืช โคนิเดียลักษณะเป็นเส้นด้ายป้านปลายเรียวแหลม (clavate) สีขาวใสมีผนังแบ่งกั้นแบ่งออกเซลล์ย่อยอีก 4-5 อัน ขนาดโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 75-125 ไมครอน และจะเกิดได้ดียิ่งขึ้นถ้าอากาศชื้น โคนิเดียจะแพร่กระจาย และระบาดได้ดีโดยลม การสาดกระเซ็นของนํ้า แมลง เครื่องมือกสิกรรม และสิ่งเคลื่อนไหวทุกชนิด

การอยู่ข้ามฤดูของเชื้อ เส้นใยที่ขึ้นเกาะกินอยู่บนต้นพืช เมื่อพืชตายก็จะอาศัยเกาะกินอยู่บนเศษซากพืชต่อมาได้อีก อย่างน้อย 1 ฤดูปลูก หรือไม่ก็ไปอาศัยเกาะติดอยู่กับเมล็ด ในลักษณะ seed-borne

การป้องกันกำจัด

1. เลือกใข้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อ

2. หลีกเลี่ยงการปลูกพริกในแปลงที่เคยมีโรคระบาดมาก่อนอย่างน้อย 2 ปี

3. เมื่อเกิดโรคระบาดรุนแรงสารเคมีที่แนะนำ ได้แก่ คลอโรธาไลนิล, สารผสมระหว่างเบนโนมิล หรือคาร์เบนดาซิม และแมนโคเซ็บ, มาเน็บ หรือซีเน็บ

3. โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium (Fusarium wilt)

โรคเหี่ยวของพริกที่เกิดจาก Fusarium sp. ได้มีผู้รายงานการพบครั้งแรกในรัฐนิวเม็กซิโกประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1960 หลังจากนั้นก็มีรายงานการระบาดและความเสียหายจากโรคนี้ในเกือบทุกแห่งที่มีการปลูกพริก

ลักษณะอาการ

การทำลายที่แท้จริงเกิดขึ้นที่รากหรือส่วนของต้นที่อยู่ระดับดินหรือใต้ดินซึ่งในระยะแรกจะมองไม่เห็นจนเมื่อรากส่วนใหญ่ถูกทำลายจนเน่าเสียแล้วพืชจึงจะแสดงอาการให้เห็นภายนอก คือใบเหลืองเหี่ยวลู่ลงและร่วงหลุดจากต้นในที่สุดอาการที่เกิดขึ้นนี้เมื่อเริ่มแสดงให้เห็นแล้วจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในกิ่งหรือแขนงที่ยังอ่อนจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลแล้วแห้งตายระยะนี้เมื่อถอนต้นขึ้นมาจากดินจะพบว่าส่วนของโคนต้นและรากถูกทำลายเปลือกหลุดร่อนเน่าเป็นสีนํ้าตาลเข้ม รากส่วนใหญ่จะขาดหลุดติดอยู่ในดิน หากดินมีความชื้นสูงจะพบเส้นใยและสปอร์ของราเป็นสีขาวหรือสีส้มอ่อนๆ เกาะติดเป็นกลุ่มอยู่ที่บริเวณแผล การเกิดโรคหากเป็นในระยะกล้าอาการจะคล้ายโรค damping-off คือกล้าจะล้มพับแห้งตายเป็นหย่อมๆ เมื่อโตขึ้นมาในระยะที่เป็นต้นอ่อน หากเป็นรุนแรง อาจถึงตายได้เช่นกันหรือไม่ก็แคระแกร็นไม่ให้ดอกออกผล ถ้าเป็นในระยะที่ต้นแก่ติดผลแล้ว ผลพริกที่ได้จะขาดความสมบูรณ์มีขนาดลีบเล็ก หดย่น และร่วงหลุดจากต้น

เชื้อสาเหตุ

Fusarium oxysporum var. vasinfectum (Atkinson) Snyder & Hansen เป็นเชื้อ Fusarium ในกลุ่ม xysporum อีกชนิดหนึ่งที่ระบาดแพร่หลายที่ทำความเสียหายให้กับพืชอย่างกว้างขวางมากมายหลายชนิดที่พบทำลายพริกนี้ เป็น variety หนึ่งเฉพาะคือ vasinfectum พวกนี้พบว่ามีการขยายพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ถึง 3 ชนิด คือ ไมโครสปอร์ microspore) เป็นสปอร์ที่มีขนาดค่อนข้างเล็กและมีเซลล์เดียว มาโครสปอร์ (macrospore) เป็นสปอร์ที่มีขนาดโตกว่า รูปโค้ง เหมือนเคียวหรือพระจันทร์เสี้ยวมีผนังกั้นแบ่งออกเป็นเซลล์ย่อยๆ 2-6 เซลล์ ส่วนใหญ่ที่พบจะมี 4 เซลล์ ซึ่งแบ่งโดยผนัง septate 3 อัน ชนิดสุดท้ายได้แก่ chlamy- dospore เป็นสปอร์ที่เกิดอยู่ภายในเส้นใยมีผนังค่อนข้างหนา

F. oxgsporum var. vasinfectum เป็นราที่ค่อนข้างไวต่อการเปลี่ยนแปลงระดับอุณหภูมิ และความชื้นมาก อุณหภูมิเหมาะที่สุดต่อการเจริญจะอยู่ในช่วงระหว่าง 24 – 28°ซ ถ้าลดต่ำกว่า 17°ซ หรือสูงเกินกว่า 38°ซ แล้วการเจริญจะเป็นไปอย่างช้าๆ หรือไม่มีการเจริญเติบโตเลย สำหรับในเรื่องของความชื้นผิดกับ Fusarium sp. ทั่วๆ ไป คือค่อนข้างชอบดินที่มีความชื้นสูง พริกที่ปลูกในดินแห้งหรือที่ดอนมักจะไม่ถูกเชื้อนี้ทำลาย แต่จะเป็นรุนแรงในดินลุ่มที่มีการระบายนํ้าเลว

การอยู่ข้ามฤดูและการแพร่ระบาด

โรคนี้หลังจากที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วเชื้อก็จะอาศัยอยู่ในดินปลูกตลอดไปได้โดยไม่มีกำหนดจากการอาศัยเกาะกินเศษซากพืชและอินทรีย์วัตถุอื่นๆ ที่มีอยู่ในดินนั้น หากปลูกพืชซํ้าลงไปก็จะเกิดโรคขึ้นติดต่อกันไปได้เรื่อยๆ การระบาดส่วนใหญ่เชื้อจะติดไปกับดิน นํ้า จอบ เสียม ไถ คราด ล้อรถยนต์หรือแทรคเตอร์ หรือติดไปกับชิ้นส่วนของพืช เช่น หัว หน่อ เหง้า และต้นกล้าเมื่อเข้าทำลายพืชซึ่งส่วนใหญ่จะผ่านทางรากหรือแผลที่โคนต้น หลังจากนั้นเมื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสม พืชจะแสดงอาการเหี่ยวทั้งต้นและตายภายใน 2 สัปดาห์ แต่อาจจะนานออกไปถึง 2-3 เดือนหากสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อเชื้อพืชอาจจะเหี่ยวเฉพาะในตอนกลางวันหรือไม่ก็แคระแกร็นไม่ถึงกับตายทั้งต้น

การป้องกันกำจัด

1. หลีกเลี่ยงการปลูกพริกลงในดินที่เคยมีโรคมาก่อนโดยเฉพาะกล้าควรเพาะในดินที่แน่ใจว่าสะอาดปราศจากเชื้อ หรือไม่ก็ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว

2. ควรปลูกพริกบนดินที่ยกเป็นร่องสูงมีการระบายนํ้าดี ดินเหนียวจัดที่อุ้มน้ำในที่ลุ่มเมื่อเกิดโรคมักจะรุนแรง และเสียหายมากกว่าในดินแห้งหรือดินทราย

3. เลือกปลูกพริกโดยใช้พันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค

4. โรครากและโคนเน่า (root rot)

ลักษณะอาการ

พริกที่ถูกเชื้อ Sclerotium spp. เข้าทำลายก็เช่นเดียวกับในมะเขือเทศ เชื้อจะเข้าทำลายส่วนรากและโคนต้น ระดับดิน ถ้าเป็นในระยะกล้าอาการจะคล้าย damping-off ส่วนในต้นโตจะเกิดอาการใบเหลือง เหี่ยว ใบล่วง แคระแกร็น หยุดการเจริญเติบโต เมื่อถอนต้นขึ้นดูจะพบว่าระบบรากถูกทำลายหลุดล่อนขาดกุดเช่นเดียวกับที่เกิดจาก Fusarium บริเวณโคนต้น เปลือกจะถูกทำลายลึกเข้าไปถึงส่วนของลำต้น ภายในเกิดเป็นแผลเป็นสีนํ้าตาลพร้อมกับจะปรากฎเส้นใยสีขาวขึ้นอยู่ทั่วไป และที่ต่างไปจากราอื่นๆ คือจะพบเม็ดสเครอโรเทียสีขาวหรือนํ้าตาลเป็นเม็ดกลมเล็กๆ เท่าหัวเข็มหมุดเป็นจำนวนมากอยู่ที่บริเวณแผลและดินโคนต้นเห็นได้ชัดเจน เมื่อรากถูกทำลายหมดหรือหากเกิดแผลจนรอบโคนต้นแล้ว พืชมักจะแห้งตายทั้งต้น

เชื้อสาเหตุ

Sclerotium rolfsii Sacc.

การป้องกันกำจัด

1. ขุดทำลายต้นพริกที่เป็นโรคพร้อมทั้งฆ่าทำลายเชื้อในดินบริเวณโคนต้นโดยใช้ไฟเผาหรือสารเคมีเช่น เทอราคลอร์ ฟอร์มาลดีไฮด์ ราดลดลงไปในดินนั้น

2. หลีกเลี่ยงหรืองดปลูกพริกซํ้าลงในดินที่เคยมีโรคระบาดไม่ต่ำกว่า 5 ปี

3. หลังเก็บเกี่ยวผลแล้วให้เติมปูนขาวลงในดินในปริมาณ 100-300 กก. ต่อไร่ แล้วปล่อยทิ้งไว้ระยะหนึ่งเมื่อใกล้จะปลูกพืชใหม่จึงค่อยใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกลงไปอีก 2-4 ตัน วิธีนี้จะช่วยหยุดการเจริญเติบโตและลดปริมาณเชื้อที่มีอยู่ขณะเดียวกันก็จะช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของดินเพื่อให้เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืชต่อไป

5. โรคยอดและกิ่งแห้ง

ลักษณะอาการ

ส่วนยอด เช่น ใบอ่อน ดอก และผลอ่อน จะเน่าเป็นสีนํ้าตาลไหม้ ถ้าอากาศมีความชื้นสูงมากๆ จะเห็นเส้นใยราสีขาวหยาบๆ ขึ้นเป็นกระจุกบนเนื้อเยื่อสีนํ้าตาล เส้นใยเหล่านี้เจริญตั้งตรงขึ้นมาจากใบมีลักษณะเป็นเส้นสั้นๆ ที่ ปลายเส้นใยโปร่งออกไปเป็นก้อนสีดำเล็กๆ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถ้าอากาศแห้งเส้นใยเหล่านี้จะแห้งและหลุดหายไป ยอดพริกจะแตกยอดไม่ได้

เชื้อสาเหตุ

Choanephora cucurbitarum Thaxt.

การป้องกันกำจัด

ในระยะที่มีฝนตกชุกควรจะพ่นสารเคมีป้องกันยอดอ่อนไว้ เช่น triforine, metalaxyl + mancozeb

6. โรคพริกที่เกิดจากไวรัส (pepper virus diseases)

พริกเป็นพืชที่ง่ายต่อการติดเชื้อไวรัสมาก โดยสามารถรับเชื้อไวรัสต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชอื่นได้เกือบทุกชนิด และก่อให้เกิดอาการเช่นเดียวกับโรคไวรัสในพืชอื่นทั่วๆ ไปเช่น ยอดตาหรือใบม้วนหงิก เป็นคลื่น หดย่น กุดด่างลาย เป็นดอกดวง เหลืองซีดชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น ฯลฯ virus ที่พบบ่อยและมากในกลุ่มของ virus พริกที่สำคัญ 3 ชนิด คือ CVMV, CMV, และ PVY

รายงานชนิดของไวรัสต่างๆ ที่พบและก่อให้เกิดความเสียหายในพริกได้แก่

1. Chilli veinal mottle virus (CVMV)

CVMV ก่อให้เกิดอาการใบด่าง ด่างเขียวเป็นจุดๆ ด่างเขียวเป็นแถบบริเวณเส้น vein ใบหยุดย่นหงิกงอ หยุดการเจริญเติบโต อาจพบ CVMV เดี่ยวๆ หรือพบร่วมกับไวรัสอื่น

CVMV จัดอยู่ในกลุ่ม Potyvirus ยาวประมาณ 750 nm. ถ่ายทอดได้ง่ายโดยวิธีกล มีเพลี้ยอ่อนหลายชนิด เช่น Aphis craccivora, A. gossypii, และ Myzus persicae เป็นพาหะแบบ non-persistent มีพืชอาศัยหลายชนิดในวงศ์ Solanaceaae เช่น Nicotiana tabacum, N. glutinosa, Datura sp., Petunia sp. Physalis sp. และมะเขือเทศ เป็นต้น

2. Potato virus Y (PVY)

อาการหลังจากที่พริกได้รับเชื้อ PVY เริ่มต้นจากเส้นใบขยายบวมโตเด่นชัดขึ้น (vein clearing)ติดตามด้วยอาการด่างลายหดย่นขึ้นกับเนื้อใบต้นแคระแกรน ออกผลน้อย ขนาดเล็กกว่าปกติ บิดเบี้ยว บางครั้งเมื่อเป็นมากใบจะหลุดร่วงหมดทำให้ตายทั้งต้น PVY แพร่ระบาดได้ดีโดยเพลี้ยอ่อนบางชนิด และวิธีกล PVY เป็นไวรัสท่อนคดยาวประมาณ 730 nm.

3. Cucumber mosaic virus (CMV)

ทำให้เกิดอาการใบด่าง Chlorotic vein banding ใบหดลีบเล็ก แคระแกร็น บางครั้งพบอาการจุดไหม้ ถ่ายทอดโรคได้โดยเพลี้ยอ่อนมากกว่า 60 ชนิด dodder มากกว่า 10 ชนิด และโดยวิธีกลเป็นไวรัสทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 nm. มีพืซอาศัยกว้างขวางมาก

4. Alfalfa mosaic virus (AMV)

อาการบนต้นพริกจากการทำลายของไวรัสชนิดนี้มีหลายลักษณะเช่น แผลสีเหลือง ใบด่างลาย เกิดเป็นแผลวงแหวนกลม ใบจุด ต้นแคระแกร็น ให้ดอกติดผลน้อย ลดปริมาณผลผลิต Alfalfa mosaic virus ระบาดแพร่กระจายได้ดีโดยแมลงเพลี้ยอ่อนมากกว่า 13 ชนิด dodder อย่างน้อย 5 ชนิด และโดยวิธีกล

AMV เป็น virus รูปร่าง bacilliform มีพืชอาศัยหลายชนิดในวงศ์ Solanaceae และวงศ์ถั่ว

5. Potato virus X (PVX)

พริกที่ปลูกใกล้เคียงบริเวณที่มีการปลูกมะเขือเทศ มันฝรั่ง มักจะติดเชื้อไวรัสนี้ โดยจะก่อให้เกิดอาการใบด่างลายมีสีเหลืองสลับเขียว ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นสีเหลืองทั้งใบ แล้วแห้งตายอย่างรวดเร็ว โรคอาจลุกลามไปยังกิ่งก้านอื่นทั่วต้นก่อให้เกิดอาการแคระแกร็นใบร่วงพริกที่เป็นโรคนี้ผลได้จะลดลงหรือไม่ได้ผลเลย

ถ่ายทอดโรคโดยวิธีกล และ grass hopper จัดเป็น virus ในกลุ่ม potex virus ยาวประมาณ 515 nm.

6. Tobacco etch virus (TEV)

TEV ก่อให้เกิดอาการแผลลักษณะเป็นวงเรียงซ้อนกัน (concentric ring) บนใบและผลพริก โดยเนื้อเยื่อตรงส่วนที่เป็นวงจะแห้งตายเป็นสีเหลืองตัดกับส่วนในที่จะคงเขียวเป็นปกติ บนผลพริกหากเกิดอาการมากๆ จะบิดเบี้ยวและหดเสียรูป ส่วนใบอ่อนที่เพิ่งแตกจะมีขนาดหดเล็กลงด่างและย่น ในรายที่เป็นรุนแรงส่วนรากที่อยู่ในดินจะถูกทำลายเสียหายไปด้วยและกลายเป็นสีนํ้าตาล

แพร่ระบาดได้ดีโดยเพลี้ยอ่อนมากกว่า 10 ชนิด สำหรับการอยู่ข้ามฤดูส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับวัชพืชบางชนิดในบริเวณใกล้เคียง

การป้องกันกำจัด

การป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสมีหลักใหญ่ๆ ที่ควรยึดถืออยู่ 3 ประการด้วยกันคือ

1. หลีกเลี่ยงการปลูกพริกที่อ่อนแอหรือง่ายต่อการติดเชื้อลงในดินปลูกที่เคยมีโรคหรือใกล้กับพืชที่สามารถติดต่อโรคกันได้เช่น มะเขือเทศ ยาสูบ มันฝรั่ง

2. พยายามขจัดทำลายต้นตออันเป็นแหล่งกำเนิดของโรคตลอดจนพืชอาศัยและวัชพืชต่างๆ ซึ่งอาจเป็นสื่อหรือที่อาศัยชั่วคราวของเชื้อ อย่าให้มีหลงเหลืออยู่บริเวณแปลงปลูก

3. ป้องกันการระบาดและการติดเชื้อ เช่นทำลาย หรือป้องกันการระบาดของแมลงที่เป็นตัวนำและถ่ายเชื้อ ทั้งเรื่องการใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์เกี่ยวกับการกสิกรรมต้องแน่ใจว่าสะอาดอยู่เสมอ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการสัมผัส จับต้องต้นพืชที่เป็นโรค หากจำเป็นต้องใช้ต้องล้างให้สะอาดเสียก่อนที่จะไปปฏิบัติกับต้นอื่นต่อไ

ที่มา:อาจารย์อุดม ฟ้ารุ่งสาง

ดูข้อมูลเพิ่มได้ที่..

http://www.thaikasetsart.com/โรคของพริกในประเทศไทย/

http://www.organellelife.com/hotnews_view.php?id=214


Featured Posts
Check back soon
Once posts are published, you’ll see them here.
Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page