โรคแคงเกอร์ในมะนาวรักษาไม่ยาก
โรคแคงเกอร์ หรือ โรคขี้กลากของส้ม (Canker)
โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้มเกิดขึ้นและรู้จักกันมานานว่าเป็นโรคซึ่งร้ายแรงที่สุดอีกโรคหนึ่งพบระบาดกว้างขวางในหลายประเทศปัจจุบันพบการระบาดของโรคแคงเกอร์อย่างกว้างขวางในทุกแหล่งที่มีการปลูกส้มของประเทศไทย พันธุ์ส้มซึ่งเป็นโรคแคงเกอร์รุนแรงมากที่สุด ได้แก่ มะนาว ส่วนมะกรูด ส้มเขียวหวาน ส้มเกลี้ยง ส้มโอ และส้มที่ใช้เป็นตอพันธุ์ เช่น ส้มคลีโอพัตรา ส้มสามใบ แม้จะเป็นโรคนี้ไม่รุนแรงเท่ามะนาวแต่ก็ล้วนอ่อนแอต่อโรคทั้งสิ้น ดังนั้นหากเกษตรกรคิดขยายการปลูกส้มให้กว้างขวางออกไป หรือมีการสนับสนุนการปลูกเพื่อการส่งส้มออกไปจำหน่ายต่างประเทศก็ควรให้ความสนใจในการป้องกันกำจัดโรคนี้ให้มาก เพราะในต่างประเทศหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เป็นต้น มีกฏหมายและระเบียบการนำเข้าเพื่อป้องกันการระบาดของโรคนี้จากประเทศอื่นๆอย่างเคร่งครัด และโรคแคงเกอร์เป็นโรคที่ป้องกันกำจัดให้หมดสิ้นไปได้ยากมาก หากไม่มีการปฏิบัติหรือมาตรการอย่างถูกต้องและต่อเนื่องเพียงพอ
สาเหตุของโรค : เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris pv. citri
การแพร่ระบาด : สามารถเกิดได้ง่ายและรุนแรงขึ้น ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น อุณหภูมิประมาณ 20 - 30 c และระยะที่มีหนอนชอนใบส้มเข้าทำลาย นอกจากนี้ก็แพร่กระจายได้ตามกระแสลม น้ำค้าง ฝน แมลง และ มนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนย้ายกิ่งที่มีโรคโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จากแหล่งหนึ่งไปยังสถานที่อื่นๆ เป็นระยะทางไกลๆได้ ช่วงที่ระบาดจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม- กันยายน
สภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเกิดโรค
- ชนิดและพันธุ์ส้มต่างๆมีความอ่อนแอต่อโรคนี้แตกต่างกัน เช่น มะนาวเป็นโรคนี้ได้รุนแรงกว่าส้มพันธุ์อื่นๆ มะนาวพันธุ์แป้นและพันธุ์ไข่จะเป็นโรครุนแรงกว่าพันธุ์หนังหรือพันธุ์ตาฮิติ
- สภาพภูมิอากาศร้อนและชื้น คือ อุณหภูมิประมาณ 20 - 30 ฐC ความชื้นสูง อากาศครึ้มเป็นระยะเวลาหลายวันติดต่อกัน ดังนั้นฤดูฝนจึงเป็นฤดูกาลที่มีการระบาดของโรคมาก
- เชื้อสาเหตุของโรคเข้าทำลายส้มได้ง่ายและรุนแรง หากมีปนอนชอนใบเข้าทำลายก่อน
- สภาพแปลงปลูกซึ่งอยู่ที่โล่งไม่มีพืชกำบังลมล้อมรอบ มักปรากฏอาการของโรคมากกว่าแปลงปลูกซึ่งมีพืชกำบังลม
ลักษณะอาการ : แยกเป็นแห่งๆ ดังนี้
ราก พบในกรณีที่ปลูกเชื้อทดลองปลูก โดยเกิดกับส่วนรากที่อยู่เหนือดิน ทำให้ต้นทรุดโทรม แคระแกร็น กิ่งตาย ใบร่วง ผลผลิตลดลงและตายในที่สุด
กิ่งก้าน พบบริเวณกิ่งอ่อน ระยะแรกแผลมีสีเหลืองนูนฟูคล้ายแผลที่เกิดบนใบต่อมาแผลจะขยายออกโดยรอบกิ่ง มีรูปร่างไม่แน่นอนหรือขยายออกตามความยาวของกิ่งก็ได้เป็นผลแห้ง แข็งสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งลักษณะแผลที่กิ่งก้านนี้จะมีสีน้ำตาลเข้มมากกว่าที่เกิดบนใบ บริเวณรอบนอกแผล ไม่มีสีเหลืองเป็นวงล้อมรอบอยู่
ใบ ระยะเริ่มแรกจะเห็นเป็นจุดขนาดประมาณหัวเข็มหมุดมองเห็นได้ไม่ชัด ลักษณะเป็นจุดกลมใส โปร่งแสง ชุ่มน้ำ และมีสีซีดกว่าใบปกติ เมื่อเวลาผ่านไปแผลจะขยายใหญ่ขึ้น สีคล้ำขึ้น มีลักษณะนูนและฟูคล้ายฟองน้ำ จากระยะเริ่มแรกที่แผลมีสีขาว หรือเหลืองอ่อนก็เปลี่ยนกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนที่นูนและฟูคล้ายฟองน้ำก็จะแยกออกเป็นสะเก็ดขรุขระคล้ายเปลือกไม้แตก มีรอยบุ๋มเล็กน้อยตรงกลาง และมีวงสีเหลืองซีดล้อมรอบรอยแผล หรืออาจไม่พบวงสีเหลืองที่ล้อมรอบก็ได้ในการเข้าทำลายนี้อาจพบเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งของใบก่อนก็ได้ หรือพบทั้งสองด้านของใบก็ได้ แต่โดยมากจะเห็นชัดเจนบริเวณส่วนใต้ใบ
ผล มีลักษณะอาการคล้ายกับที่พบที่ใบ แผลที่เกิดเดี่ยวๆมีลักษณะกลม บริเวณรอบแผลดูคล้ายกับฝังลึกลงไปในผิวของผล แผลจะนูน และปรุโปร่งคล้ายฟองน้ำ แต่มีสีเหลือง แข็ง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแผลแก่ บางครั้งแผลจะรวมกันมีขนาดใหญ่เป็นสะเก็ด รูปร่างไม่ แน่นอน ซึ่งเมื่อหลุดจะมียางไหลออกมาจากแผลได้ ลักษณะวงแหวนสีเหลืองรอบแผลไม่ปรากฏชัดเจนเท่าอาการบนใบ ผลส้มเขียวหวาน ที่เป็นโรคมักร่วงเร็วกว่าปกติ และร่วงได้ง่ายกว่าส้มพันธุ์อื่นๆ บางครั้งอาจทำให้ผลอ่อนซึ่งมีอายุประมาณ 4 - 6 เดือนแตกตามขวางโดยเริ่มปริจากแผลของโรคแคงเกอร์ เมื่อส้มได้รับน้ำอย่างเต็มที่ในระยะเวลาอันสั้น ต้นที่เป็นโรคมากๆมักแสดงอาการต้นโทรม แคระแกร็น ใบร่วงมาก กิ่งแห้งตาย ผลผลิตลดลงและต้นอาจตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด
สารประกอบของทองแดง เช่น คอปเปอร์ซัลเฟต คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ คอปเปอร์ออกไซด์ สเตรพโตมัยซิน ไม่สามารถทำลายโรคแคงเกอร์ได้ ทำได้แค่ระงับยับยั้งอาการเท่านั้น หยุดฉีดเมื่อไรก็ปรากฎอีก นอกจากราคาแพงแล้วยังเป็นอันตรายต่อผู้ใช้และผู้บริโภค
ที่มาบทความ:
http://www.kasetkawna.com/article/144/โรคแคงเกอร์ในมะนาว
http://www.chanapanmanaw.com/index.php/article/38-โรคแคงเกอร์ในมะนาว